Twitter

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กระแสหรือผลพวงของการปฏิบัติงาน

           ผ่านมาหนึ่งปีกับงานอาสาสมัครเยียวยาผู้บาดเจ็บผู้ป่วยฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การขับเคลื่อนของมูลนิธิฮิลาลอะห์มัรนั้น ตนเองในฐานะประธานมูลนิธิฯ คิดว่า เรื่องการพัฒนาอาสาสมัครนี้เราเดินมาได้พอสมควร เท่าที่ติดตามพัฒนาการของพวกเขามาอย่างต่อเนื่อง ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญประการหนึ่งคือ อาสาสมัครของศูนย์ปฏิบัติการเริ่มแสดงความเป็นห่วงเป็นใยสังคม แม้เขาจะไม่ได้มาเข้าเวรที่ศูนย์ก็ตาม ดูได้จากเขามีความคิดที่อยากจะพัฒนาสังคม เริ่มคิดว่าจะทำอะไรเพื่อชุมชนของเขา อาทิเช่น การคิดที่จะไปขอที่ราชพัสดุซึ่งว่างอยู่มาปลูกพริก หรือศูนย์บันนังสตาจะปลูกกล้วย เพื่อที่จะปันผลที่ได้ไปดูแลเด็กกำพร้าและแบ่งกำไรที่มีสัดส่วนประจำให้กับมูลนิธิฯ ไปเลย สิ่งเหล่านี้เป็นกระแสหรือผลพวงที่เกิดขึ้นมาจากการทำเรื่องของอาสาสมัคร ที่ผ่านมามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

จุดเริ่มจากงานอาสาสมัครเยียวยาฉุกเฉินสามารถพัฒนาจิตสาธารณะที่นำไปสู่การทำเรื่องส่วนรวมอื่นๆ ทั้งนี้เกิดจากการค้นพบคุณค่าอะไรบางอย่างในตัวของอาสาสมัครเอง ยกตัวอย่างในโลกอิสลามคนที่เข้ามาทำงานในลักษณะนี้ จะพัฒนาตนเองไปเป็นคนที่เริ่มไม่เห็นแก่ตัว และในโลกอิสลามมันถูกพิสูจน์ว่า การทำงานแบบองค์กรอาสาสมัครที่อยู่บนวิถีของมุสลิมมันเข้มแข็ง สิ่งนี้อาจจะไม่เกิดในสังคมอื่นแต่ในสังคมมุสลิมมันเกิดเพราะสังคมมุสลิมถูกครอบโดยศาสนา

ที่ผ่านมาสังคมมุสลิมวนเวียนอยู่กับผู้รู้ทางศาสนา ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดให้กับผู้รับในสังคม บางทีไม่มีรูปธรรมที่แสดงสิ่งที่ตนเองสอนให้คนอื่นทำ ฉะนั้นคนที่นี่จึงไม่ได้คิดว่ามีโต๊ะครูมากแล้วสังคมจะดีขึ้น หรือ การที่มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนามากมายไม่ได้เป็นตัวชี้วัดเสมอไปว่าสังคมดีขึ้น จะเห็นว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรามีสิ่งเหล่านี้มากมาย แต่สังคมโดยรวมของที่นี่ยังล้าหลังทางความคิดในการพัฒนาตนเอง ดังนั้นเมื่อได้เข้ามาทำงานอาสาสมัครแบบนี้จึงเกิดความรู้สึกว่า นี่แหละคือรูปธรรมที่เป็นจริง ในการที่เราบอกว่าเราต้องเสียสละ ต้องช่วยเหลือสังคมแล้วค่อยๆ ขยายความคิด ความรู้สึกเห็นตัวตนว่า จริงๆ แล้วมนุษย์ต้องการช่วยเหลือคนอื่นเพียงแต่ไม่มีตัวอย่าง ไม่มีโอกาส ไม่มีสนามให้เล่น เพราะ

“สังคมมุสลิมถูกครอบด้วยคำสอนเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีรูปธรรมให้เห็นและไม่มีช่องทางให้ทำ เมื่อมีงานอาสาสมัครให้ทำจึงเป็นจุดโอกาสสำคัญในการสำแดงรูปธรรมให้ประจักษ์”

จุดคลิกสำคัญที่ทำให้คิดเรื่องของการพัฒนาระบบอาสาสมัครในพื้นที่ มีอยู่สองเรื่องด้วยกัน คือ หนึ่ง ในสังคมมุสลิมจุดที่เคลื่อนได้เร็วและได้ผลต้องเคลื่อนผ่านผู้รู้ทางศาสนา ยิ่งผู้รู้ทางศาสนาที่เป็นนักพัฒนาจะทำให้เคลื่อนไปได้เร็วมาก เพราะเขามีทั้งความเชื่อและมีจิตสำนึก สอง วัฒนธรรมของสังคมที่นี่มักเรียกร้องมากกว่าจะทำเอง เราต้องการเปลี่ยนวัฒนธรรมการแบมือขอเป็นการพัฒนาขึ้นมาด้วยตนเอง โดยทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง ชุมชนท้องถิ่นของตน

สำหรับกลยุทธ์ในการเลือกคนมาเป็นทีมบริหารมูลนิธิฯ และศูนย์ปฏิบัติการในพื้นที่นั้น มองว่า ต้องเป็นคนที่มีทุนทางสังคมในพื้นที่สูง คือเป็นที่ยอมรับจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายขบวนการ และผู้นำศาสนา ที่สำคัญเขาต้องสร้างความไว้วางใจให้กับชุมชนสังคมได้โดยสามารถอธิบายสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ว่ามันมีความบริสุทธิ์ จริงใจ ไม่แอบแฝง มิฉะนั้นเราจะขับเคลื่อนงานอาสาสมัครเพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่อย่างที่บอกไว้ข้างต้นไม่ได้เลย ถ้าเราถูกระแวงจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตั้งแต่ต้น อันนี้สัมพันธ์กับจุดยืนความเป็นกลางทางสังคมที่เราต้องชัดเจน มั่นคง

หากถามว่าเมื่อริเริ่มจากงานอาสาสมัครแล้วอยากจะสานต่อเรื่องอะไรในจังหวะต่อไป ก็มองว่าต้องทำให้องค์กร (มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร) เป็นมืออาชีพมีระบบการจัดการที่มาตรฐาน ชัดเจน โปร่งใส เพราะเราต้องสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับ ซึ่งถ้าทำตรงนี้ได้ก็จะพัฒนาเรื่องของสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเราต้องอาศัยการบริจาคของมุสลิมทั่วโลก ผ่านเข้ามาสู่มูลนิธิฯ เนื่องจากคนมุสลิมเชื่อในการซอดาเกาะห์ (การสะเดาะเคราะห์โดยจะให้ตามความรู้สึกและเป็นกิจกรรมในการช่วยเหลือคน) ซึ่งเป็นการให้ทานที่มีมากในโลกมุสลิม มากกว่าซะกาดด้วยซ้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น