Twitter

วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ข้อบังคับมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร

หมวดที่ 1

ชื่อเครื่องหมายและสำนักงานที่ตั้ง



ข้อ 1. มูลนิธินี้มีชื่อว่า ฮิลาลอะห์มัร ย่อว่า ฮ.ม.

เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า HILAL AHMAR FOUNDATION ย่อว่า H.A.F

เรียกเป็นภาษาอาหรับว่า جمعية الهـلال الأحـمـر

ข้อที่ 2. เครื่องหมายของมูลนิธินี้ คือ เป็นเครื่องหมายสี่เหลี่ยมพื้นสีแดงมีรูปจันทร์เสี้ยวสีขาวสลักอยู่ตรงกลาง และอักษรไทยอยู่ใต้จันทร์ ชื่อภาษาอังกฤษอยู่ใต้สี่เหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่เหนือสี่เหลี่ยมและอักษรอาหรับว่าجمعية الهـلال الأحـمـر สลักอยู่

ข้อที่ 3. สำนักงานของมูลนิธิ ฯ ตั้งอยู่ เลขที่ ๓๐๐/๑๒๒ หมู่บ้านออมทอง หมู่ที่ ๔ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โทรศัพท์/โทรสาร ๐-๗๓๓๑-๓๓๒๑



หมวดที่ 2

วัตถุประสงค์

ข้อที่ 4. วัตถุประสงค์ของมูลนิธินี้ คือ

4.1 เพื่อบรรเทา สาธารณภัย

4.2 เพื่อการบำบัดรักษา ค้นคว้า ป้องกันผู้ป่วยจากยาเสพติด

4.3 เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา เด็กกำพร้า คนยากจน และคนอนาถา

4.4 เพื่อดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์

4.5 ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด ฯลฯ



หมวดที่ 3

ทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน



ข้อ 5. ทรัพย์ของมูลนิธิมีทุนเริ่มแรก คือ

5.1 เงินสด จำนวน 500,000 บาท ( ห้าแสนบาทถ้วน )


ข้อ 6. มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีต่อไปนี้

6.1 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนี้สินหรือภาระติดพันอื่นใด

6.2 เงินหรือทรัพย์ที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้

6.3 ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินมูลนิธิ

6.4 รายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ



หมวดที่ 4

คุณสมบัติ และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ



ข้อ 7. กรรมการของมูลนิธิต้องมีคุณสมบัติดังนี้

7.1 มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์

7.2 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

7.3 ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ข้อ 8. กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

8.1 ถึงคราวออกตามวาระ

8.2 ตายหรือลาออก

8.3 ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับข้อ 7

8.4 เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย และคณะกรรมการมูลนิธิมีมติให้ออกโดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการมูลนิธิที่มีอยู่



หมวดที่ 5

การดำเนินงานของคณะกรรมการมูลนิธิ ฯ

ข้อ 9. มูลนิธิดำเนินการโดยคณะกรรมการมูลนิธิ มีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินสิบสองคนประกอบด้วย ประธานกรรมการมูลนิธิ รองประธานกรรมการมูลนิธิ เลขานุการมูลนิธิ เหรัญญิก แลตำแหน่งอื่นๆ ตามแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร

ข้อ 10. ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการผู้เริ่มจัดตั้งมูลนิธิเป็นผู้เลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการมูลนิธิและกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่ เห็นสมควรตามข้อบังคับ

ข้อ 11. วิธีเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิให้ปฏิบัติดังนี้ให้คณะกรรมการมูลนิธิชุดที่ดำรงตำแหน่งเลือกตั้งประธานกรรมการมูลนิธิและกรรมการตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ

ข้อ 12. กรรมการดำเนินงานมูลนิธิอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี

ข้อ 13. เพื่อให้การดำเนินงานของมูลนิธิได้เป็นไปโดยติดต่อกัน เมื่อคณะกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิได้ปฏิบัติหน้าที่มาครบสองปี (ครึ่งหนึ่งของวาระการดำรงตำแหน่ง) ให้มีการจับสลาก ออกไปหนึ่งในสองของจำนวนกรรมการมูลนิธิที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการการดำเนินงานมูลนิธิครั้งแรก และให้กรรมการมูลนิธิที่หมดวาระการปฏิบัติหน้าที่กรรมการมูลนิธิต่อไปจนกว่านายทะเบียนจะได้แจ้งการรับจดทะเบียนกรรมการมูลนิธิชุดใหม่

ข้อ 14. การเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิ ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ เป็นมติของที่ประชุม

ข้อ 15. กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือโดยการจับสลากในวาระแรก อาจได้รับเลือกเป็นกรรมการมูลนิธิได้อีก

ข้อ 16. ถ้าตำแหน่งกรรมการมูลนิธิว่างลง ให้คณะกรรมการมูลนิธิที่เหลืออยู่ตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง กรรมการมูลนิธิผู้ได้รับการแต่งตั้งซ่อมอยู่ในตำแหน่งเท่าวาระของผู้ที่ตนแทน

หมวดที่ 6

อำนาจหน้าที่กรรมการมูลนิธิ



ข้อ 17. คณะกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของมูลนิธิ ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิและภายใต้ข้อบังคับนี้ ให้มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้

17.1 กำหนดนโยบายของมูลนิธิ และดำเนินงานตามนโยบายนั้น

17.2 ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่างๆ ของมูลนิธิ

17.3 เสนอรายงานกิจการ รายงานการเงินและบัญชีดุล รายได้รายจ่ายต่อกระทรวงมหาดไทย

17.4 ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ และวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้

17.5 ตราระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมูลนิธิ

17.6 แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง หรือหลายคณะ เพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของมูลนิธิ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการมูลนิธิ

17.7 เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ หรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้มูลนิธิเป็นพิเศษ เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์

17.8 เชิญผู้ทรงเกียรติให้เป็นผู้อุปถัมภ์มูลนิธิ

17.9 เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิ

17.10 แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ประจำการมูลนิธิ

17.11 มติที่ได้ดำเนินการตามข้อ 17.7, 17.8, 17.9, และ 17.10 ต้องเป็นมติเสียงข้างมากของที่ประชุม และที่ปรึกษาตามข้อ 17.9 ย่อมเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิที่เชิญเท่านั้น

ข้อ 18. ประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

18.1 เป็นประธานของการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

18.2 สั่งการ และเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

18.3 เป็นผู้แทนของมูลนิธิในการติดต่อกับบุคคลภายนอกในการทำนิติกรรมใดๆ ของมูลนิธิหรือการลงลายมือชื่อในเอกสาร ข้อบังคับ และสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของมูลนิธิและในการอรรถคดีนั้นเมื่อประธานกรรมการมูลนิธิ หรือผู้ทำการแทนหรือกรรมการ
มูลนิธิผู้ที่ได้รับการมอบหมายจากคณะกรรมมูลนิธิ ได้ลงลายมือชื่อแล้วจึงเป็นอันใช้ได้

18.4 ปฏิบัติการอื่นๆ ตามข้อบังคับ และมติของคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ 19. ให้รองประธานกรรมการมูลนิธิ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิ เมื่อประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือในกรณีที่ประธานมอบหมายให้ทำการแทน

ข้อ 20. ถ้าประธานกรรมการมูลนิธิและรองประธานกรรมการมูลนิธิไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมคราวหนึ่งคราวใดได้ ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิคนใดคนหนึ่ง เป็นประธานสำหรับการประชุมคราวนั้น

ข้อ 21. เลขานุการมูลนิธิมีหน้าที่ควบคุมกิจการ และดำเนินการประจำของมูลนิธิติดต่อประสานงานทั่วไป รักษาระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิ ปิดประชุมกรรมการตามคำสั่งของประธานกรรมการมูลนิธิ และทำรายงานการประชุมตลอดจนรายงานกิจการมูลนิธิ

ข้อ 22. เหรัญญิกมีหน้าที่ควบคุมการเงิน ทรัพย์สินของมูลนิธิตลอดจนบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง และเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด

ข้อ 23. สำหรับกรรมการตำแหน่งอื่นๆ ให้มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด โดยทำเป็นคำสั่งระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน

ข้อ 24. คณะกรรมการมูลนิธิมีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมกรรมการ หรืออนุกรรมการอื่นๆ ของมูลนิธิได้


หมวดที่ 7

อนุกรรมการ



ข้อ 25. คณะกรรมการมูลนิธิอาจแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการได้ตามความเหมาะสมโดยจะแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการประจำ หรือเพื่อการใดเป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราวก็ได้ และในกรณีที่คณะกรรมการมูลนิธิไม่ได้แต่งตั้งประธานอนุกรรมการ เลขานุการ หรืออนุกรรมการในตำแหน่งอื่นไว้ ก็ให้อนุกรรมการแต่งตั้งกันเองเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้

ข้อ 26. อนุกรรมการอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะเสร็จงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำ ส่วนคณะอนุกรรมการประจำอยู่ในตำแหน่งตามเวลาที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ก็ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง และอนุกรรมการที่พ้นจากตำแหน่ง อาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้

26.1 อนุกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการตามคณะกรรมการมูลนิธิมอบหมาย

26.2 อนุกรรมการมีหน้าที่เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการมูลนิธิเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย



หมวดที่ 8

การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ



ข้อ 27. คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีทุกๆ ปี ภายในเดือนเมษายนและต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม

ข้อ 28. การประชุมวิสามัญอาจมีได้ในเมื่อ ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือเมื่อคณะกรรมการมูลนิธิตั้งแต่สองคนขึ้นไปแสดงความประสงค์ไปยังประธานกรรมการมูลนิธิ หรือผู้ทำการแทนประธานขอให้มีการประชุมก็ให้เรียกประชุมวิสามัญได้

ข้อ 29. กำหนดการประชุมและองค์ประชุมของคณะกรรมการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมูลนิธิจะกำหนด ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการประชุม ให้คณะกรรมการตกลงกันเอง และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์ประชุมให้ใช้ข้อ 27 บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 30. ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ หากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด กิจการใดที่เป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อย ประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจสั่งให้ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือแทนการเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ แต่ประธานกรรมการมูลนิธิต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในคราวต่อไป ถึงมติและกิจการที่ได้ดำเนินการไปตามมตินั้น กิจการใดเป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิ

ข้อ 31. ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือประธานที่ประชุมมีอำนาจเชิญ หรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุม ในฐานะแขกผู้มีเกียรติ หรือผู้สังเกตการณ์ หรือเพื่อชี้แจง หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้



หมวดที่ 9

การเงิน


ข้อ 32. ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือรองประธานกรรมการมูลนิธิในกรณีทำหน้าที่แทน มีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าว ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมาก เว้นแต่กรณีจำเป็นและเร็งด่วนให้อยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิที่จะอนุมัติให้จ่ายได้ แล้วต้องรายงานให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบในการประชุมคราวต่อไป

ข้อ 33. เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกินหนึ่งแสนบาท

ข้อ 34. เงินสดของมูลนิธิหรือเอกสารสิทธิ์ ต้องนำฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นใดที่รัฐบาลให้การค่ำประกัน แล้วแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร

ข้อ 35. การสั่งจ่ายเงินโดยเช็คหรือตั๋วสั่งจ่ายเงิน จะต้องมีลายมือชื่อประธานกรรมการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทน กับเลขานุการหรือเหรัญญิกลงนามทุกครั้ง จึงจะเบิกจ่ายได้

ข้อ 36. ในการใช้จ่ายของมูลนิธิ ให้จ่ายเพียงดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นทุนของมูลนิธิ และเงินที่ผู้บริจาคมิได้แสดงเจตนาให้เป็นเงินสมทบทุนโดยเฉพาะและรายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ

ข้อ 37. ให้คณะกรรมการมูลนิธิวางระเบียบเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และทรัพย์สินของมูลนิธิตลอดจนกำหนดอำนาจหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการรับและจ่ายเงินนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

ข้อ 38. ให้มีผู้สอบบัญชีมูลนิธิ ซึ่งคณะกรรมการมูลนิธิเห็นชอบและแต่งตั้งจากบุคคลที่มิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของมูลนิธิ โดยจะให้ดำรงตำแหน่งกิตติมศักดิ์ หรือได้รับค่าตอบแทนอย่างไรสุดแต่ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิจะกำหนด

ข้อ 39. ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของมูลนิธิ และรับรองบัญชีงบดุลประจำปีที่คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องรายงานต่อกระทรวงมหาดไทย ผู้สอบบัญชีมีสิทธิ์ตรวจสอบบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสอบถามกรรมการมูลนิธิและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิในเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และเอกสารดังกล่าวได้



หมวดที่ 10

การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ



ข้อ 40. การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับจะกระทำได้ โดยเฉพาะคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และมีมติให้แก้ไขหรือเพิ่มเติมตราสาร ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม



หมวดที่ 11

การเลิกมูลนิธิ



ข้อ 41. ถ้ามูลนิธิต้องเลิกล้มไปโดยมติของคณะกรรมการ หรือโดยเหตุใดก็ตาม ทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิที่เหลืออยู่ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่มัสยิดดารุสสาลัม (สาวอ) เลขทะเบียนเลขที่ 120/2497วันที่จดทะเบียน วันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน พ. ศ. 2497 ตั้งอยู่ - หมู่ที่ 6 ตำบลสาวอ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส 96150

ข้อ 42 การสิ้นสุดของมูลนิธินั้น นอกจากที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วให้มูลนิธิอันเป็นสิ้นสุดลงโดยมิต้องให้ศาลสั่งเลิกด้วยเหตุต่อไปนี้

42.1 เมื่อมูลนิธิได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้วไม่ได้รับทรัพย์สินตามคำมั่นเต็มจำนวน เว้นแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นว่า ทรัพย์สินของมูลนิธิที่

ได้รับนั้นพอที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ

42.2 เมื่อกรรมการมูลนิธิจำนวนสองในสามมีมติให้ยกเลิก

42.3 เมื่อมูลนิธิมิอาจหากรรมการได้ครบตามจำนวนกรรมการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

42.4 เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ



หมวดที่ 12

บทเบ็ดเตล็ด



ข้อ 43. การตีความในข้อบังคับมูลนิธิ หากเป็นที่สงสัยให้คณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 44. ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิมาใช้บังคับในเมื่อข้อบังคับของมูลนิธิมิได้กำหนดไว้

ข้อ 45. มูลนิธิต้องมิใช่เป็นการหาผลประโยชน์ ค้ากำไรเพื่อบุคคลใด และจะไม่ดำเนินการนอกเหนือจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง




                                                            ผู้จัดทำข้อบังคับ

                                                       นายอิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์

                                         ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร